ความผูกพันของข้าวกับชีวิต ความเป็นอยู่ของคนไทยมีมานานกว่า 5,500 ปี โดยพิจารณาจากหลักฐานการค้นพบรอยพิมพ์ของเปลือกข้าวที่โนนนกทา อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น อีกทั้งยังรับประทานข้าวเป็นอาหารหลักมานาน จนใช้คำว่า “กินข้าว” แทน “กินอาหาร” และอาหารที่ยังรับประทานกับข้าว ก็มักเรียกว่า “กับข้าว” นอกจากนี้ ข้าวยังใช้เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ในพิธีกรรมต่างๆ คนไทยนิยมอวยพรด้วยการโปรยข้าวตอกดอกไม้เพื่อความเป็นสิริมงคล ในงานบุญประเพณีต่างๆ จะต้องมีขนมที่ทำจากข้าว อันรียกรวมๆกันว่า “ขนมข้าวต้ม” เป็นสิ่งที่จะขาดไม่ได้
ข้าวที่นำมาใช้ทำขนมมีทั้งข้าวเหนียวและข้าวเจ้า ทั้งในรูปเมล็ดและแป้ง ได้หลายรูปแบบ เช่น เมล็ดข้าวที่ยังไม่แก่จัด นำไปคั่วให้สุกแล้วตำ ก็จะได้ข้าวเม่า ที่สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้อีกหลายอย่าง ได้แก่ ข้าวเม่าคลุก กระยาสารท ข้าวเม่าหมี่ เป็นต้น ส่วนขนมที่ทำจากข้าวเหนียวทั้งเมล็ด เช่น ข้าวต้มมัด นางเล็ด ข้าวเหนียวมูน ข้าวหลาม เป็นต้น หรืออาหารว่างที่ทำจากเมล็ด เช่น ข้าวตังต่างๆ เมื่อนำเมล็ดข้าวไปโม่เป็นแป้ง ก็สามารถทำขนมและอาหารว่างต่างๆ มากมาย
ขนม
“ขนม” เข้าใจว่ามาจากคำสองคำที่มาผสมกันคือ “ข้าวหนม” และ “ข้าวนม” ข้าวหนมนั้นเข้าใจว่าเป็นข้าวผสมกับน้ำอ้อย น้ำตาล โดยอนุโลมคำว่า “หนม” แปลว่า หวาน อย่างข้าวหนม แปลว่า ข้าวหวาน ต่อมาเรียกสั้น ๆ เร็ว ๆ ก็กลายเป็นขนม
ส่วนที่ว่ามาจาก “ข้าวนม” (ข้าวเคล้านม) นั้นดูเป็นแขกไปสักหน่อย เพราะอาหารแขกบางชนิดเขาใช้ข้าวผสมกับนม อย่างข้าวมธุปายาสของแขกโบราณ คำว่าขนม มีใช้มาหลายร้อยปีแล้ว จะเป็นคำผสมของอะไรบ้างยากจะสันนิษฐานให้แน่นอนลงไปได้
ของที่เรียกว่า “ขนม” ในสมัยโบราณหรือในสมัยที่มีคำว่า “ขนม” นั้นจะเป็นของที่ทำจากข้าวตำป่น (แป้ง) แล้วผสมกับน้ำตาลเท่านั้น นี่เป็นขนมรุ่นแรก
ในหนังสือไตรภูมิพระร่วงได้กล่าวถึงขนมต้มไว้ เดิมมีแป้งกับน้ำตาล ต่อมามีคนดัดแปลงสอดไส้เข้าไปอีก ตอนนี้ก็มีมะพร้าวเข้าปนอยู่ด้วย ขนมไทย ๆ จึงหนีไม่พ้น แป้ง มะพร้าว และ น้ำตาล และของทั้งสามอย่างก็เป็นของพื้นบ้านทั่วไป
ขนมประเภทที่ใช้ ข้าว(แป้ง) น้ำตาล มะพร้าว คงจะมีมาตั้งแต่กรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาตอนต้น พอถึงสมัยกรุงศรีอยุธยามีการติดต่อกับต่างประเทศมากขึ้น ขนมก็มีการเปลี่ยนแปลงไป มีไข่ผสมแทรกเข้าไปด้วย เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง สังขยา ขนมฝรั่งขนมหม้อแกง เป็นต้น