HEAD-LOGO-NEW-2.png
วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี เป็น “วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ” ซึ่งมีประวัติความเป็นมาที่น่าประทับใจคือ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระเจ้าน้องยาเธอ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เพื่อทอดพระเนตรกิจการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งได้ทรงหว่านข้าวด้วยพระองค์เองในแปลงนา หลังตึกขาว (ปัจจุบันคือ ตึกพืชพรรณ ของกรมวิชาการเกษตร) ทรงหว่านข้าวด้วยพระองค์เองในแปลงนา นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานต่อชาวสยามและข้าวไทยและเป็นวาระสำคัญ ต่อกิจกรรมข้าวไทย การเสด็จพระราชดำเนินทรงหว่านข้าวในครั้งนั้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์
ถ้ากล่าวถึงชาวนาไทยและข้าวนั้น ข้าวเป็นพืชที่มีความสำคัญต่อประเทศ และสังคมไทยอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ข้าวยังมีความสำคัญต่อวัฒนธรรมประเพณี และวิถีชีวิตของคนไทย รวมทั้งเป็นความมั่นคงทางอาหาร ดังนั้น นโยบายหรือมาตรการใดที่เกี่ยวกับข้าว ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาวะความเป็นไปของสังคมไทยอย่างมาก และเพื่อเป็นการรำลึกถึงความสำคัญของข้าว รวมทั้งเพื่อเชิดชูเกียรติและสร้างขวัญกำลังใจ ให้แก่ชาวนา
นอกจากนี้ ยังมุ่งหวังที่จะสร้างความภาคภูมิใจ ให้กับยุวชนชาวนา ซึ่งจะเป็นผู้สืบทอดการปลูกข้าวในอนาคตด้วย การกำหนดให้มีวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ แยกออกจากวันพระราชพิธีพืชมงคล เนื่องจากวันพระราชพิธีพืชมงคลดังกล่าว มิได้เฉพาะเจาะจงแต่เฉพาะอาชีพการทำนา และชาวนาเท่านั้น แต่หมายรวมถึงอาชีพการทำไร่ การทำสวนด้วย ประกอบกับการกำหนดวันพระราชพิธีพืชมงคลในแต่ละปีนั้น เป็นการกำหนดทางจันทรคติ ทำให้ไม่สามารถระบุเป็นวันแน่ชัดล่วงหน้าถาวรในปฏิทินได้ และไม่เหมาะสมที่จะจัดกิจกรรมเฉลิมฉลอง สำหรับชาวนาโดยทั่วไป
Scroll to Top