เกี่ยวกับเรา
ความเป็นมาของมูลนิธิฯ
ประชากรไทยกว่าร้อยละ 60 เป็นเกษตรกร ส่วนใหญ่ปลูกข้าวเป็นพืชหลัก ประเทศไทยเคยส่งออกข้าวมากที่สุดในโลก กว่า 10 ล้านตันต่อปี ข้าวไทยสร้างชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ทำรายได้ให้แก่ประเทศเป็นจำนวนมากทุกปี ข้าวจึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ช่วยกอบกู้และพยุงเศรษฐกิจของประเทศในช่วงวิกฤตข้าว เป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมประจำชาติ มีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่อศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ ศาสนพิธี การเฉลิมฉลอง ภูมิปัญญาและวิถีทางในการดำรงชีวิตของคนไทย แต่ทุกวันนี้มีคนไทยกี่คนที่รู้ว่าข้าวมีอิทธิพลต่อขนบธรรมเนียมประเพณีและวิถีชีวิตของคนไทย มีกี่คนที่รู้จักแม่โพสพ มีกี่คนที่รู้ว่ามีเวลาที่ข้าวตั้งท้องและคนไทยปฏิบัติต่อข้าวเหมือนกับปฏิบัติต่อผู้หญิงที่ตั้งท้อง มีใครเคยได้ยินเพลงเกี่ยวข้าวฯลฯ คนไทยคุ้นเคยกับข้าวเสียจนมองข้ามความสำคัญของข้าวและคนปลูกข้าว ชาวนาเองก็ยังไม่อยากให้ลูกหลานสืบทอดการเป็นชาวนา เพราะทราบดีถึงความยากลำบากในการทำนาและรายได้จากการผลิตที่ไม่แน่นอน งบประมาณของรัฐบาลที่ใช้สำหรับค้นคว้าวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับข้าวก็ไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
เพื่ออนาคตของประเทศ เราต้องร่วมกันสร้างอนาคตของข้าวไทยให้ดีขึ้น ชาวนาควรรู้จักใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ผสานกับวัฒนธรรมดั้งเดิมเพื่อเพิ่มผลิตผล และลดต้นทุนการผลิต โดยรักษาคุณภาพชีวิต และสภาพแวดล้อม และควรเข้าใจถึงกลไกของราคาข้าว กิจกรรมของโรงสีข้าว และการค้าข้าวทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ เพื่อที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงรอบ ๆ ตัว สามารถเข้ากับระบบเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ที่กำลังเผชิญอยู่ได้
ประชาชนทั่วไปก็ควรที่จะมีความรู้และให้ความสนใจในเรื่องข้าวมากขึ้น ทั้งในด้านบทบาทของข้าวต่อวิถีการดำเนินชีวิต ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี ทั้งในด้านกระบวนการผลิตของชาวนา เราต้องเร่งเรียกร้องให้คนไทยหันกลับมาทำความรู้จักกับวัฒนธรรมข้าว เลือกสรร อนุรักษ์ บูรณาการความรู้เรื่องข้าวเพื่อเผยแพร่แก่บุคคลทั่วไป สร้างการทำนาให้เป็นอาชีพที่ดึงดูดใจคนรุ่นใหม่ได้
แต่เนื่องจากงานพัฒนาข้าวและชาวนามีขอบเขตกว้างขวาง องค์กรใดองค์กรหนึ่งย่อมไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง จึงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์การนานาชาติ อาศัยกลไกการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ มีเงินทุนสนับสนุนที่พอเพียงสำหรับงานวิจัยและการฝึกอบรมต่างๆ ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิฯข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2543
วัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ
มูลนิธิฯ มุ่งที่จะยกระดับอนาคตของข้าวและชาวนาไทย เพื่อให้ชาวนาไทยสามารถปรับตัวเข้ากับโลกสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้ และหวังที่จะเห็นสาธารณชนคนไทยยกย่องและใส่ใจในมรดกวัฒนธรรมข้าว และร่วมกันดูแลพื้นที่เพาะปลูกให้คงอยู่เป็นสมบัติของชาติต่อไป โดยมีวัตถุประสงค์หลักดังนี้
1. รักษามรดกวัฒนธรรมข้าวไทย
2. เผยแพร่ความรู้ในเรื่องข้าว
3. สนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาในเรื่องข้าว
4. สนับสนุนนโยบายที่ก่อให้เกิดความคล่องตัวในวงการข้าวไทย
กรรมการบริหารมูลนิธิฯ
มูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีกรรมการบริหาร 15 ท่าน กรรมการกิตติมศักดิ์ 7 ท่านและที่ปรึกษาคณะกรรมการฯ 2 ท่าน เป็นผู้กำหนดนโยบายการดำเนินงานโครงการและกิจกรรมของมูลนิธิฯ