HEAD-LOGO-NEW-2.png

นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีของคนไทย เมื่อ ข้าวหอมมะลิไทย ประกาศศักดา คว้ารางวัลชนะเลิศ เวิลด์ เบสต์ ไรซ์ อวอร์ด 2020 (World’s Best Rice Award 2020) ข้าวที่ดีที่สุดในโลกปี 2020 จากการประชุมผู้ค้าข้าวทั่วโลกที่จัดขึ้นทุกปี ในปีนี้ตรงกับวันที่ 1-3 ธันวาคม 2563

ปีนี้ประเทศที่ส่งข้าวเข้าประกวด ประกอบด้วย ไทย เวียดนาม กัมพูชา จีน และสหรัฐ มีข้าวตัวอย่างกว่า 20 ตัวอย่างส่งประกวด แต่ของไทยส่งไปเพียง 1 ตัวอย่าง คือข้าวหอมมะลิ 105 เพิ่งเก็บเกี่ยวเมื่อเดือนพฤศจิกายนนี้ ปลูกในพื้นที่ภาคอีสาน

สำหรับผู้เข้ารอบสุดท้าย มี 3 ชาติอาเซียน คือ ไทย เวียดนาม และกัมพูชา และในที่สุดข้าวหอมมะลิไทยก็ได้รับคัดเลือกเป็นข้าวที่ดีที่สุดในโลก

คณะกรรมการและเชฟที่มีชื่อเสียงระดับนานานาชาติร่วมกันตัดสิน เกณฑ์การตัดสินจะแบ่งเป็น 2 ช่วงคือ ลักษณะของข้าวก่อนหุง และหลังหุงสุก ก่อนหุงจะดูรูปลักษณ์ของข้าวมีความสวยงาม ความสะอาดมากน้อยเพียงใด และหลังหุงสุกจะให้เชฟทดลองชิมรสชาติ ทั้งกรรมการและเชฟจะตัดสินแบบ ไบลด์ เทสต์ (Blind Test) ไม่มีการบอกก่อนว่าข้าวไหนเป็นของประเทศไหน จากนั้นกรรมการและเชฟจะรวมคะแนนก่อนหุงและหลังหุง ปรากฏว่าข้าวไทยได้คะแนนสูงสุดทั้งเกณฑ์ก่อนหุงและหุงแล้ว

ถือเป็นข่าวดีของคนไทย เพราะข้าวไทยได้เวลาดังไกลไปทั่วโลกอีกครั้งหนึ่ง

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า เรื่องแผนยุทธศาสตร์ข้าวไทย 2563-2567 จะเน้นเรื่องพันธุ์ข้าว เพราะที่ผ่านมาภาครัฐไม่ได้ให้ความสำคัญกับพันธุ์ข้าวที่หลากหลาย ทำให้ไทยหยุดอยู่กับที่มาอย่างยาวนาน ประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามมีการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวต่อเนื่อง จนได้ข้าวขาวพันธุ์พื้นนุ่มที่มีราคาถูกกว่าข้าวหอมมะลิอย่างมาก ตลาดผู้บริโภคจึงมีความต้องการสูงมาก เพราะมีสัมผัสเหมือนข้าวหอมมะลิ เพียงแต่ไม่มีกลิ่นหอมเท่า ทำให้ไทยสูญเสียตลาดการส่งออกใหญ่ๆ อย่างฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย จีน ซึ่งแผนยุทธศาสตร์ใหม่นี้ จะสามารถเพิ่มพันธุ์ข้าว แบ่งแยกสายพันธุ์ข้าวให้มากขึ้น ให้ดีเทียบเท่าหรือดีกว่าของประเทศคู่แข่ง อีกทั้งต้องพัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้นกว่าเดิม ปัจจุบันประเทศไทยมีผลผลิตข้าวเฉลี่ยต่อไร่ต่อปีเพียง 450 กิโลกรัมเท่านั้น ขณะที่ประเทศเวียดนามและอินเดีย ทำได้ 800 กิโลกรัม/ไร่ จึงเป็นข้อเสียเปรียบอย่างมาก

“ในอนาคตไทยต้องก้าวไปข้างหน้า ข้อเสนอคือ 1.จะต้องมีพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ที่ตรงกับความต้องการของตลาดโลก อย่างข้าวขาวพื้นนุ่ม 2.ต้องเพิ่มผลผลิตข้าวต่อไร่ให้สูงขึ้น ช่วยลดต้นทุนเกษตรกร และทำให้ราคาแข่งขันในตลาดโลกได้ 3.ต้องลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ จากที่ใช้ขนส่งทางรถมากกว่า 90% ขณะที่เวียดนามใช้ขนส่งทางน้ำซึ่งมีต้นทุนถูกกว่ามากเป็นหลัก” 

แหล่งที่มา : “เศรษฐกิจ” มติชน 7 ธ.ค. 2563

Scroll to Top