เกษตร “ทฤษฎีใหม่” ตามแนวพระราชดำริ

ในปี พ.ศ. 2532 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลย-เดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์แก่ราษฎรทั่วทุกท้องถิ่น โดยมุ่งหมายให้ราษฎรมีความเป็นอยู่อย่าง “พอดีและพอเพียง” คือ ไม่รวยมากแต่ก็พอกิน ไม่อดอยาก ด้วยการบริหารจัดการที่ดินและแหล่งน้ำเพื่อพัฒนาชีวิตและอาชีพของเกษตรกรที่มีพื้นที่จำกัด และมีปัญหาเรื่องน้ำไม่เพียงพอสำหรับการปลูกพืชโดยแบ่งพื้นที่ออกเป็นสัดส่วนร้อยละ 30:30:30:10
ส่วนแรก ร้อยละ 30 : เป็นบ่อเก็บน้ำฝน เพื่อใช้อุปโภคบริโภค ใช้รดน้ำพืชเมื่อแล้ง หรือใช้ปลูกพืชอายุสั้นราคาดี เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง และผักต่างๆ
ส่วนที่สอง ร้อยละ 30 : ใช้ปลูกข้าว เนื่องจากทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า “ข้าวเป็นอาหารหลัก” ของคนไทย เป็นสิ่งสำคัญที่จำเป็นอันดับแรกของชีวิต จึงควรปลูกให้มีปริมาณที่เพียงพอสำหรับบริโภคตลอดปี
ส่วนที่สาม ร้อยละ 30 : ให้ปลูกพืชสวน ไม้ยืนต้น พืชผักและพืชไร่ แบบผสมผสานเพื่อใช้บริโภคและจำหน่าย
ส่วนที่สี่ ร้อยละ 10 : เป็นพื้นที่สำหรับที่อยู่อาศัย ถนน คันดิน ยุ้งข้าว เพาะเลี้ยงพันธุ์ปลา และโรงเลี้ยงสัตว์ต่างๆ
การเกษตร “ทฤษฎีใหม่” มีการทดลองที่โครงการพัฒนาวัดมงคลชัยพัฒนา อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี และได้มีการพิสูจน์แล้วว่าการบริหารที่ดินตามทฤษฎีแนวใหม่นี้ สามารถเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้นได้ ช่วยให้เกษตรกรมีข้าวและอาหารเพียงพอสำหรับการบริโภค และมีรายได้พอเลี้ยงชีพตลอดปี
Scroll to Top