ข้าวฮางคืออะไร ?

คำถาม: ข้าวฮางคืออะไร? มีการผลิตอย่างไร?
คำตอบ: ข้าวฮางเป็นข้าวที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นของภาคอีสานที่มีมานาน เนื่องจากแต่เดิมการผลิตข้าวไม่เพียงพอต่อความต้องการเนื่องจาก อุทกภัย ภัยแล้ง จึงจำเป็นต้องนำข้าวที่ยังไม่แก่จัดมานึ่ง เพื่อจะให้สีออกมาเป็นเมล็ดได้ ข้าวที่นำมาใช้ทำข้าวฮางมักเป็นข้าวพันธุ์ดี มีความนุ่ม เช่น ข้าวพันธุ์ กข6 และ ขาวดอกมะลิ 105
ในอดีตกระบวนการแปรรูปข้าวฮางจะใช้ข้าวเปลือกที่ยังไม่แก่จัด ขนาดพัฒนาเมล็ดประมาณร้อยละ 85 ขึ้นไปมาทำ และไม่มีการทำให้งอก ในปัจจุบันมีการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการทําข้าวฮางให้เป็นข้าวฮางงอก โดยเพิ่มกระบวนการทำให้ข้าวงอก โดยหลังจากแช่น้ำแล้ว จะปล่อยให้เมล็ดข้าวงอกประมาณ 24-48 ชั่วโมง ขั้นตอนนี้ช่วยเพิ่มสารกาบาในข้าวฮางงอก แต่ทั้งนี้การทำข้าวฮางงอกนั้นมีความจำเป็นต้องใช้ข้าวที่มีลักษณะแก่จัดเพื่อให้เกิดการงอกได้
ทำให้ในปัจจุบันกรรมวิธีการผลิตข้าวฮางใกล้เคียงกับการผลิตข้าวนึ่ง โดยขั้นตอนหลัก คือ การนำข้าวเปลือกมาแช่น้ำจนมีความชื้นประมาณ 30-40% แล้วนึ่ง จากนั้นนำมาทำให้แห้ง แล้วสีเอาเปลือกออก โดยจะทำการขัดสีเพื่อให้เป็นข้าวขาวหรือไม่ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้บริโภค
แต่ความแตกต่างระหว่างข้าวฮางและข้าวนึ่งในปัจจุบันคือ ข้าวนึ่งมักนิยมใช้ข้าวที่มีความแข็ง ได้แก่ ข้าวพันธุ์ชัยนาท 1 โดยวัตถุประสงค์การทำข้าวนึ่งส่วนใหญ่ทำเพื่อให้เมล็ดข้าวมีความแกร่งมากขึ้น เพื่อป้องกันมอด ข้าวไม่เละเมื่อนำไปหุง สามารถส่งขายไปยังต่างประเทศที่นิยมบริโภคข้าวนึ่ง เช่น ในประเทศแถบตะวันออกกลาง
สำหรับข้าวฮางหอมทองสกลทวาปีที่ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย (GI) ของจังหวัดสกลนครนั้น หมายถึง ข้าวกล้องที่ได้จากการแปรรูปข้าวเปลือกเหนียวพันธุ์ กข6 หรือข้าวเปลือกเจ้าพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ในระยะน้ำนมยังไม่แก่จัดที่ปลูกในพื้นที่อำเภอวาริชภูมิ อำเภอพังโคน และอำเภออากาศอำนวยจังหวัดสกลนครโดยนำมาผ่านกรรมวิธีเฉพาะตามหลักประเพณีการทำข้าวฮางที่สืบต่อกันมาในพื้นที่ดังกล่าว ข้าวจะถูกเก็บเกี่ยวในระยะข้าวเปลือกเป็นน้ำนมยังไม่แก่จัด (ขนาดพัฒนาเมล็ดประมาณร้อยละ 85 ขึ้นไป) มีกรรมวิธีการแปรรูป ดังนี้
          1. นำข้าวเปลือกที่ยังไม่แก่จัดมาพักบ่มไว้  2 คืน (ใส่ถุงและปิดปากถุง เพื่อให้เปลือกข้าว อ่อนลง)
          2. นำข้าวเปลือกที่พักไว้ไปแช่น้ำ 12 ชั่วโมงและคัดแยกเมล็ดลีบออก
          3. นำไปนึ่ง ประมาณ 40 นาที ยกลงแล้วใช้น้ำราดข้าวนึ่งให้เปียกทุกเมล็ดอย่างทั่วถึง พักไว้ 20 นาที ราดน้ำเย็นอีกครั้ง
          4. ผึ่งลมหรือตากแดดให้ข้าวเปลือกที่นึ่งแล้วแห้ง ไม่มีการทำให้งอก และสีโดยไม่ขัดเมล็ดข้าว
(ที่มาข้อมูล : สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสกลนคร, 2557)
เรียบเรียงโดย : ผศ.ดร.อรัญญา พรหมกูล, ผศ.ดร.พัชราภรณ์ ถิ่นจันทร์, ดร.กุลวดี แก้วก่า และ ดร.พัดชา เศรษฐากา
Scroll to Top