HEAD-LOGO-NEW-2.png

ขอทราบข้อมูล "ประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก" ของจังหวัดยโสธร

“งานประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก” เป็นประเพณีที่งดงามและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของชุมชนลุ่มน้ำซีแห่งบ้านฟ้าหยาด ตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร โดยชาวบ้านจะนำข้าวตอกสีขาวที่คัดจากข้าวเปลือกที่ดีที่สุดมาร้อยเป็นมาลัยสายยาวแทน “ดอกมณฑารพ” อันเป็นดอกไม้ทิพย์แห่งสรวงสวรรค์ แล้วจัดกระบวนแห่ไปถวายเพื่อเป็นพุทธบูชาเนื่องในเทศกาลวันมาฆบูชา ซึ่งเป็นประเพณีดั้งเดิมที่สืบทอดต่อเนื่องกันมาอย่างยาวนาน

การประกวดแห่มาลัยข้าวตอก

ความเป็นมาของประเพณีแห่มาลัย

ครั้งเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ดอกมณฑารพนี้ก็ได้ร่วงหล่นลงมาทั้งก้านและกิ่ง เปรียบเสมือนการแสดงความเสียใจต่อการเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ข่าวการเสด็จดับขันปรินิพพานได้แพร่ขยายออกไปในหมู่เหล่าข้าราชบริพาร ประชาชนทั้งหลาย รวมถึงเหล่าพระภิกษุ ได้พากันมาถวายสักการะพระบรมศพของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อีกทั้งยังได้พากันเก็บดอกมณฑารพที่ร่วงหล่นลงมาเพื่อนำไปสักการบูชาและรำลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป ดอกมณฑารพที่เก็บมาได้เริ่มเหี่ยวแห้งและหมดไป

ดอกมณฑารพ

เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชาวพุทธจึงได้พากันนำเอาข้าวตอกมาสักการบูชา เพราะถือว่าข้าวเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและเป็นของสูงที่มนุษย์จะขาดไม่ได้ การจัดข้าวตอกดอกไม้ถวายเป็นพุทธบูชามีจุดเริ่มต้นเมื่อไหร่นั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่เชื่อกันว่าแรกๆ จะใส่พานไว้โปรยเวลาพระสงฆ์เทศนา ต่อมาจึงมีการนำมาประดิษฐ์ตกแต่งเพื่อให้สวยงาม และมีการสืบทอดกันเรื่อยมา จากนั้นจึงมีการพัฒนามาเรื่อยๆ จนกลายเป็นการประกวดกัน และเริ่มมีการแห่แหนให้เป็นงานขึ้นมา จนกลายเป็นงานที่ใหญ่ขึ้น มีการฟ้อนรำประกอบขบวนและกลายเป็นประเพณีแห่มาลัยในปัจจุบัน ซึ่งจัดให้มีขึ้นในทุกปี นอกจากนี้ยังแสดงถึงความสุขทางจิตใจและบุญ รวมไปถึงความต้องการในการดำรงอยู่ของชีวิต โดยการถวายข้าวตอกนั้นมีนัยแฝงอีกอย่าง คือ เพื่อขอให้ชุมชนมีความอุดมสมบูรณ์ในด้านข้าวปลาอาหาร จึงได้ใช้ข้าวเป็นเครื่องบูชา

ขบวนแห่มาลัยข้าวตอก

ความเป็นมาของประเพณีแห่มาลัย

จัดขึ้นในทุกปี ก่อนวันมาฆบูชา 1 วัน มีการนำข้าวตอก ดอกไม้ไปถวายเป็นพุทธบูชา

ประเภทของพวงมาลัย

มีทั้งหมด 2 แบบ คือ
1. พวงมาลัยข้าวตอกแตก วัสดุที่ทำประกอบด้วยข้าวตอกแตกเป็นหลัก ข้าวตอกแตก คือ ข้าวเปลือกที่คั่วให้ข้าวแตกออกจากเปลือกด้วยความร้อนจากไฟ ลักษณะคล้ายกับข้าวโพดคั่ว

พวงมาลัยข้าวดอกแตก

2. พวงมาลัยเส้นด้าย วัสดุที่ทำประกอบด้วยเส้นฝ้ายเป็นหลัก

พวงมาลัยเส้นด้าย

การแห่มาลัย

พวงมาลัยที่ทำเสร็จแล้วจะนำไปแห่ในวันเวลาที่นัดหมายกัน โดยชาวบ้านที่เป็นเจ้าของพวงมาลัยจะใช้ไม้ไผ่ลำยาวเพื่อยกหรือชูมาลัยให้สูงจากพื้นดิน จะได้ไม่ห้อยระติดพื้นดิน เพราะสิ่งของที่จะเป็นพุทธบูชาถือว่าเป็นของสูงค่ายิ่งนัก ในขบวนแห่นอกจากพวงมาลัยทั้งสองประเภทแล้ว ยังมีพานพุ่มที่จัดเป็น พุ่มเงิน พุ่มทอง และพุ่มดอกไม้ที่จัดประดับตกแต่งด้วยเงิน สิ่งของ และปัจจัยไทยทานที่ประสงค์จะทำบุญตามกำลังศรัทธาของแต่ละบุคคล

งานแห่มาลัยข้าวตอก

ที่มา
1. http://www.visityasothon.com/?destination=ประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก
2. https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=travelaround&date=22-02-2008&group=27&gblog=1
3. https://www.baanmaha.com/community/threads/3624-ประเพณีแห่มาลัย-อ-มหาชนะชัย-จ-ยโสธร
4. http://www.obec.go.th/news/37322

Scroll to Top