ขนม
“ขนม” หรือของหวาน เข้าใจว่ามาจากคำสองคำที่มาผสมกันคือ “ข้าวหนม” และ “ข้าวนม” ข้าวหนมนั้นเข้าใจว่าเป็นข้าวผสมกับน้ำอ้อย น้ำตาล โดยอนุโลมคำว่า “หนม” แปลว่า หวาน อย่างข้าวหนมซึ่งแปลว่า ข้าวหวาน ต่อมาเรียกสั้น ๆ เร็ว ๆ ก็กลายเป็นขนม ส่วนที่ว่ามาจาก “ข้าวนม” (ข้าวเคล้านม) นั้นดูเป็นแขกไปสักหน่อย เพราะอาหารแขกบางชนิดเขาใช้ข้าวผสมกับนม อย่างข้าวมธุปายาสของแขกโบราณ คำว่าขนม มีใช้มาหลายร้อยปีแล้ว จะเป็นคำผสมของอะไรบ้างยากจะสันนิษฐานให้แน่นอนลงไปได้
ของที่เรียกว่า “ขนม” ในสมัยโบราณ หรือในสมัยที่มีคำว่า “ขนม” นั้น จะเป็นของที่ทำจากข้าวตำป่น (แป้ง) แล้วผสมกับน้ำตาลเท่านั้น นี่เป็นขนมรุ่นแรก
ในหนังสือไตรภูมิพระร่วงได้กล่าวถึงขนมต้มไว้ เดิมมีแป้งกับน้ำตาล ต่อมามีคนดัดแปลงสอดไส้เข้าไปอีก ตอนนี้ก็มีมะพร้าวเข้าปนอยู่ด้วย ขนมไทย ๆ จึงหนีไม่พ้น แป้ง มะพร้าว และ น้ำตาล และของทั้งสามอย่างก็เป็นของพื้นบ้านทั่วไป ขนมประเภทที่ใช้ ข้าว(แป้ง) น้ำตาล มะพร้าว คงจะมีมาตั้งแต่กรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาตอนต้น พอถึงสมัยกรุงศรีอยุธยามีการติดต่อกับต่างประเทศมากขึ้น ขนมก็มีการเปลี่ยนแปลงไปอีกโดยมีไข่ผสมแทรกเข้าไปด้วย เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง สังขยา ขนมฝรั่ง ขนมหม้อแกง เป็นต้น